|
![]() | อำเภอกัลยาณิวัฒนา มีศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญของพุทธศาสนิกชน คือ “วัดจันทร์” ที่สันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี ตั้งอยู่ ณ บ้านวัดจันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลวัดจันทร์ ปัจจุบันวัดแห่งนี้กำลังสร้างโบสถ์หลังใหม่ โดยใช้ไม้เป็นส่วนประกอบหลัก ฝาและพื้นที่ด้วยไม้สนในพื้นที่เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ และจุดสะดุดตาของวัดจันทร์ ก็คือ วิหารแว่นตาดำ วิหารที่มีลักษณะเหมือนสวมแว่นตาดำอยู่หน้าวิหาร สร้างมาประมาณ 80 ปี โดยช่างชาวกระเหรี่ยง หรือชาวปกาเกอญอ โดยเหตุผลเพราะ วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พื้นวิหารเทพื้นปูน ฝาวิหารด้านข้างฉาบปูน ส่วนประตูด้านหน้าวิหารรวมทั้งจั่ววิหารด้านหน้าส่วนหนึ่งได้ทำด้วยแผ่นไม้สักปิดบังแสงแดดไว้หมด ขณะนั้นช่างเห็นว่าหากปิดด้านหน้าวิหารหมดจะไม่มีแสงแดดให้แสงสว่างในวิหารได้ จึงมีเจตนาว่าจะเปิดด้านหน้าวิหารบริเวณจั่ววิหารให้แสงแดดเข้ามาข้างในวิหารได้บ้าง จึงเจาะแผ่นไม้บางส่วนของจั่วออกเพื่อจะได้รับแสง โดยช่างตั้งใจจะทำให้เหมือนดวงตา แต่พอทำเสร็จมีลักษณะคล้ายแว่นตาจึงปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น ก่อนนั้นไม่ได้นำกระจกมาสวมใส่แต่อย่างใด แต่เป็นห่วงทรัพย์สินในวิหารที่มีพระประธานเป็นพระสิงห์ 3 อายุกว่า 300 ปี และพระพุทธรูปองค์อื่นๆ อีกจำนวนมาก กลัวว่าจะสูญหาย ต่อมาจึงนำกระจกกรองแสงสีดำมาติดอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นวิหารสวมแว่นตา 07 มิถุนายน 2564 |
![]() | พระธาตุโฆ่ว์โพหลู่ หรือ พระธาตุจอมแจ้ง เป็นเจดีย์สีขาวองค์เล็ก ตั้งอยู่บริเวณริมเนินเขา ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า เดิมเป็นองค์เจดีย์สีทอง แต่ได้ผุกร่อนลอกหลุดไปตามกาลเวลา บริเวณพระธาตุจะมีกุฏิพระสงฆ์ มีศาลาเล็ก ๆ สำหรับปฏิบัติธรรม จุดที่น่าสนใจ คือ บริเวณริมเนินเขาด้านหลังองค์พระธาตุ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดของอำเภอวัดจันทร์ เมื่อมองลงไปจากตรงนี้ จะเห็นทุ่งนา ป่าสน ชุมชนและบ้านเรือนโดยรอบได้อย่างชัดเจน และในฤดูหนาว บริเวณนี้จะเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอกัลยาณิวัฒนาเลยทีเดียว 07 มิถุนายน 2564 |
![]() | “กัลยาณิวัฒนาสูงสง่า ป่าสนพันปี วัฒนธรรมประเพณีชนเผ่า พระธาตุเก่าล้ำค่า หกธาราแหล่งต้นน้ำ งามเลิศล้ำอำเภอในฝัน” ถ้าพูดถึงอำเภอที่ไกลที่สุด และเดินทางไปยากลำบากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องมีคนนึกถึงชื่อของอำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นลำดับต้น ๆ การเดินทางไปอำเภอกัลยาณิวัฒนา หรือชื่อเดิม อำเภอวัดจันทร์ มีสองเส้นทางให้เลือก เส้นทางแรก มีระยะทางประมาณ 154 กิโลเมตร ไปทาง อำเภอสะเมิง - กัลยาณิวัฒนา เป็นถนนเส้นเล็ก ๆ ค่อนข้างแคบ และเปลี่ยว แต่มีความคดโค้งน้อยกว่า เส้นทางที่สอง แม่แตง - ปาย - กัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นถนนที่ปรับปรุงใหม่ กว้างกว่าแต่มีปริมาณรถมาก และต้องผจญกับโค้งมหาโหด กว่า 750 โค้ง บนระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร ใครที่ไม่ชินกับการนั่งรถทางโค้ง เชื่อว่าได้แวะที่จุดพักอ้วกอย่างแน่นอน ด้วยระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเศษ เมื่อไปถึงอำเภอกัลยาณิวัฒนา สิ่งแรกที่เราจะได้พบคือ ป่าสนเขียวขจีที่เรียงรายตลอดเส้นทาง เพราะพื้นที่แห่งนี้มีระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เป็นสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของไม้ตระกูลสน จึงทำให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าสนตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยวมากแวะมาเยือน "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์" หรือ "ป่าสนวัดจันทร์" ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อที่สุดของอำเภอแห่งนี้ นอกจากป่าสนวัดจันทร์แล้ว ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ เช่น วัดจันทร์ ซึ่งมี วิหารแว่นตาดำ ที่ไม่ควรพลาดชม แต่ยังมีศาสนสถานอีกหนึ่งแห่งในอำเภอกัลยาณิวัฒนาที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าน้อยคนจะได้ไปเยือน นั่นคือ "พระธาตุโฆ่ว์โพหลู่" ซึ่งเป็นภาษาปกาเกอะญอแปลว่า “ดอยเจดีย์น้อย” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "พระธาตุจอมแจ้ง” พระธาตุแห่งนี้ อยู่ห่างจากป่าสนวัดจันทร์ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางที่จะออกจากตัวอำเภอไปตามถนนใหญ่ และจะมีป้ายทางเข้าเล็ก ๆ ชี้ให้เลี้ยวไปตามถนนดินลูกรัง ผ่านพื้นที่ป่าสนเข้าไปที่บริเวณพระธาตุอีกประมาณ 400 เมตร ท่านใดที่ต้องการไปเยือนอำเภอกัลยาณิวัฒนา และกราบสักการะพระธาตุวัดจันทร์ และพระธาตุโฆ่ว์โพหลู่เพื่อเป็นสิริมงคล ท่านสามารถเลือกขับรถไปได้ตามเส้นทางทั้งสองเส้นที่แนะนำไว้ข้างต้น หรืออาจจะใช้วิธีการเดินทางเป็นวงกลม เพื่อที่จะแวะเที่ยวอำเภอปายด้วยก็ได้ แต่ถ้าต้องการเดินทางด้วยรถโดยสารเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ จะมีรถโดยสารสีเหลือง เชียงใหม่ - วัดจันทร์ ให้บริการที่ขนส่งช้างเผือกในอำเภอเมือง เชียงใหม่ ซึ่งรถจะวิ่งไปทางเส้นทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-แม่ริม) และเข้าสู่อำเภอสะเมิงที่ทางหลวงหมายเลข 1096 เพื่อมุ่งสู่อำเภอกัลยาณิวัฒนา โดยจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 4.30 - 5 ชั่วโมง และจะมีพักรถประมาณ 30 นาทีที่ท่ารถในตัวอำเภอสะเมิง เวลาเดินรถเชียงใหม่ - วัดจันทร์ มีวันละสองรอบ ไป - กลับ คือ ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ เวลา 09.00 และ 11.00 น. และออกจากบ้านวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา เวลา 07.00 และ 08.00 น. ค่าโดยสาร คนละ 180 บ. สำหรับที่พักในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ท่านสามารถเลือกพักได้ทั้งรีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ และโฮมสเตย์ของชาวบ้าน หรือสำรองที่พักของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ได้ที่ 053 - 215 981 07 มิถุนายน 2564 |
![]() | ปกติหากนึกถึงโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ หรือบางคนจะเรียกว่าสั้นๆว่า ป่าสนวัดจันนทร์ เรามักจะนึกถึงบรรยากาศของป่าสนผลัดใบในฤดูหนาวและไอหมอกลอยเหนืออ่างเก็บน้ำในยามเช้า เราอาจจะคิดว่าเหมาะสำหรับไปเที่ยวแค่ในช่วงหน้าหนาวเพราะบรรยากาศอาจจะใช่กว่า แต่แท้จริงแล้วที่นี่สามารถเที่ยวได้ทุกฤดู ถึงแม้ฤดูอื่นจะไม่หนาวจัดเท่าหน้าหนาวก็ตาม แต่อากาศเย็นสบายตลอดปี และหากมาเที่ยวในฤดูฝนจะได้พบกับอีกหนึ่งบรรยากาศที่เขียวขจีและสดชื่นในแบบฉบับของการท่องเที่ยวช่วงกรีนซีซั่นซึ่งสวยงามไม่แพ้กัน สามรถติดต่อเช็คอินที่พัก ได้ที่ ที่ทำการของโครงการ ได้ที่ 053 - 215 981 แม้แต่ที่ทำการก็ยังน่าอยู่ซะขนาดนี้ มาเที่ยวช่วงฝนที่เรียกกันว่าช่วงโลว์ซีซั่น (Low Season) บรรยากาศเงียบสงบแตกต่างกับฤดูหนาว ทุกพื้นที่ถูกปกคลุมไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ ช่างเป็นสวรรค์ของพวกเราโดยแท้ บ้านพักของโครงการหลวงฯ มีให้เลือกหลายแบบ รายละเอียดของบ้านพักดูได้ที่เว็บไซต์ ป่าสนบ้านวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา โดย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สำหรับบ้านพักที่ได้รับความนิยมและขึ้นชื่อว่าวิวดีและอยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำและทิวสนมากที่สุดก็คงเป็นบ้านสนเขา ซึ่งมีทั้งหมด 7 หลัง ลักษณะของบ้านเป็นบ้านแบบกระท่อมไม้เล็กๆ อาจไม่ได้ดูหรูหราอะไร แต่ก็ได้ความรู้สึกของความเป็นคันทรี่แบบมีระดับที่กลมกลืนไปกับบรรยากาศ ทราบมาว่าช่วงหน้าหนาวบ้านพักถูกจองเต็มเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะบ้านสนเขาไม่ต้องพูดถึง แต่เนื่องจากเรามาใช่ช่วงโลว์ซีซั่น ทุกอย่างก็ดูง่ายไปหมด ไปจองหน้างานก็มีที่พักว่าง แถมราคาลดลงไปด้วย ปกติบ้านสนเขาแบบ 2 คน หน้าไฮหลังละ 800 บาท แต่ช่วงโลว์ซีซั่นเหลือ 600 บาท เท่านั้น เดินเล่นชมบรรยากาศภายในโครงการชมวิวต้นสนที่เรียงรายตลอดสองข้างทาง พื้นดินรอบด้านที่เคยเป็นสีน้ำตาลในเวลานี้กลายเป็นหญ้าสีเขียวขจี แซมด้วยสีเขียวของมอสและตะไคร่ที่ขึ้นแซมไปตามพื้นคอนกรีต นี่แหละคือความสวยงามของการท่องเที่ยวในฤดูฝน ป้ายบอกทางไปอ่างเก็บน้ำแต่เรายังไม่ไปในช่วงเวลานี้เพราะตั้งใจจะไปในตอนเช้าของอีกวัน เราเลี้ยวไปตามทางของบ้านฉางข้าว ซึ่งในเส้นทางนี้ก็รายล้อมไปด้วยต้นสนเช่นกัน เดินไปอีกนิดจะเป็นพื้นที่ทดลองปลูกข้าว มาในช่วงกลางเดือนกันยายนถือว่ากำลังพอเหมาะพอดี นาข้าวเขียวขจีเต็มท้องทุ่ง ส่วนปลายเดือนตุลาคมก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีทอง สามารถลงไปเดินเล่นในท้องนาและหามุมถ่ายภาพสวยๆ ได้ตามความพึงพอใจ เมื่อเดินไปจนสุดปลายทางก็จะมีสะพานข้ามไปยังอีกฝั่ง หยุดพักหายใจชมวิวกันซักหน่อย ฝั่งตรงข้ามจะเป็นดงของต้นเมเบิ้ล ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ในช่วงฤดูหนาว เพราะใบเมเบิ้ลจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีแดง ส้ม เหลือง สลับกัน แต่ถ้ามาในช่วงฤดูฝนก็จะเขียวขจีมองดูแล้วก็สวยงามอีกแบบ ตื่นเช้ามากับอีกหนึ่งกิจกรรมยอดฮิต นั่นก็คือ ปั่นจักรยานชมวิว สูดอากาศบริสุทธิ์ ไปตามเส้นทางทิวสนรอบโครงการ ฯ มีจักรยานให้เช่าคันละ 100 บาท ต่อวัน บรรยากาศบริเวณอ่างเก็บน้ำในยามเช้า ถึงแม้จะไม่มีไอหมอกลอยเหนือน้ำเช่นฤดูหนาว แต่ก็มีสายหมอกลอยคลอเคลียผ่านทุ่งนามาเป็นระยะ เก็บเรื่องราวสีเขียวของป่าสนไว้ในความทรงจำในฤดูแห่งสีเขียว อีกหนึ่งฤดูแห่งความสดชื่นที่แสนประทับใจ เครดิต : เว็บไซต์ "ไปด้วยกัน" 07 มิถุนายน 2564 |
![]() | หลังจากเดินเล่นชมวิวป่าสนที่โครงการหลวงแล้ว ลองนั่งรถกระบะต่อไปยังบ้านห้วยฮ่อม หมู่บ้านชาวเขาซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านจันทร์ จากโครงการหลวงใช้เวลาเดินทางไปประมาณ 30 นาที เส้นทางเข้าสู่บ้านห้วยฮ่อม ในช่วงฤดูฝนแฉะพอสมควร รถตู้หรือรถเก๋งไม่เหมาะที่จะขับขึ้นมา บ้านห้วยฮ่อม เป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเหล่อชอ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยฮ่อม บ้านดอยตุง และบ้านห้วยครก ตำบลบ้านจันทร์ ซึ่งชาวเขาส่วนใหญ่เป็นชาวปกากะญอที่เข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐานจนกลายเป็นหมู่บ้าน มีเรื่องราวของชุมชนที่อยู่คู่กับธรรมชาติและยังคงใช้วีถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่มาก ทั้งวัฒนธรรมการแต่งกาย ความเป็นอยู่ อาหารการกิน ประเพณีและความเชื่อแบบโบราณคือการนับถือผี บูชาธรรมชาติ โดยเปิดให้เป็นการท่องเที่ยวชุมชนเปิดให้บุคคลที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสวิถีชุมชน พักโฮมสเตย์และทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน สำหรับการท่องเที่ยงชุมชนบ้านห้วยฮ่อมจะคิดราคาตามนี้ ค่ารถกระบะนำเที่ยว 1,000 บาท นั่งได้ 10 คน (เนื่องจากเส้นทางบางช่วงเมื่อเข้าสู่บ้านห้วยฮ่อม รถตู้หรือรถเก๋งไม่สามารถเข้าได้) ค่าอาหารกลางวัน 70 บาท/คน ค่าผู้นำเที่ยว 300 บาท ค่าอาหารว่างเมตอซู 300 บาท ค่าประสานงาน 200 บาท ค่าชมการทอผ้าของชุมชน 300 บาท ค่าผู้นำเที่ยวชุมชน 300 บาท/วัน/กลุ่มไม่เกิน 10 คน โดยสามารถติดต่อได้ที่ พี่เช โทร 080 859 2978 บ้านห้วยฮ่อมยังเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ของธรรมชาติโดยเฉพาะนาข้าวที่กระจายอยู่รอบหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านจะเริ่มทำนากันในช่วงเดือนสิงหาคม และข้าวก็จะเริ่มเขียวขจีเต็มท้องทุ่งประมาณเดือนกันยายน และกลายเป็นสีทองในช่วงกลางปลายเดือนตุลาคม บ้านเรือนของชาวเขาในหมู่บ้านห้วยฮ่อม ยังคงเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงแบบนี้เกือบทุกบ้าน วัดห้วยฮ่อม วัดเพียงแห่งเดียวซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นี่นับถือ 2 ศาสนา คือ พุทธ และคริสต์ แต่ทั้งสองศาสนายังกลมกลืนและมีความสามัคคีเข้าใจกัน เวลามีงานบุญศาสนาคริสต์ก็จะมาช่วย และอย่างมีงานคริสต์มาสศาสนาพุทธก็มาร่วมด้วยเช่นกัน จุดไฮไลท์ก็คือ นาข้าวของหมู่บ้าน ก่อนจะถึงนาข้าว จะมีดงต้นไผ่ระหว่างทาง ต้นไผ่ถือว่าเป็นพืชที่สำคัญของหมู่บ้านที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งวงจรชีวิต ตั้งแต่เมื่อต้นไผ่เริ่มโตก็ขุดเอาหน่อไม้มากิน ลำต้นไผ่ก็มาทำที่อยู่อาศัย รวมถึงเป็นไม้ปักทางการเกษตร เป็นภาชนะ หรือใช้ในงานหรือพิธีกรรมต่างๆ รวมถึงหนอนในไม้ไผ่ก็สามารถนำมากินได้ จากจุดจอดรถเดินมาประมาณ 200 เมตร มาถึงพื้นที่ปลูกข้าวของชาวบ้านห้วยฮ่อม ลักษณะของพื้นที่นาข้าวตั้งอยู่รายล้อมกลางหุบเขาปลูกลดหลั่นกันไป แต่ไม่ถึงก็เป็นขั้นบันไดมากเหมือนแม่แจ่ม หรือแม่กลางหลวง เส้นทางการเดินชมนาข้าวระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเป็นลักษณะวงกลม ระหว่างทางนอกจากจะได้เห็นไร่นาแล้ว ยังได้เห็นแปลงพืชไร่ชนิดอื่นที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้ด้วย อุปกรณ์ไม้ไผ่ที่หมือนกรงนกอยู่ตรงทุ่งนานี้ทำไว้ เพื่อบวงสรวงผีซึ่งเชื่อว่านาแต่ละแปลงมีผีที่ดูแลผืนนานั้นอยู่ วิธีการบวงสรวงคือ นำเลือดไก่มาเซ่นไหว้โดยป้ายเลือดไว้ที่ไม้ จากนั้นนำขนไก่มาปักไว้ นาข้าวของชาวบ้านก็ไม่ได้ปลูกไว้ขายแต่อย่างใด แต่ปลูกไว้เพื่อใช้บริโภคกันในครัวเรือน และใช้วิถีการปลูกตามแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ใช้ปุ๋ยธรรมชาติจากเศษใบไม้ มูลสัตว์ น้ำที่ใช้ทำนาก็ใช้น้ำจากภูเขาและลำธาร เรียกได้ว่าวิถีชีวิตยังเป็นอะไรที่อยู่กันแบบชาวบ้านจริงๆ ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า พืชผักที่นำมาใช้รับประทานก็ปลูกเอง ยึดอาชีพเกษตรทำไร่ ทำนาเป็นหลัก แปลงผักบางแปลงก็ปลูกและส่งให้กับโครงการหลวง เส้นทางเดินชมทุ่งนาบางช่วงก็รกไปด้วยหญ้าและวัชพืชต่างๆ เดินมาเรื่อยจนถึงจุดไฮไลท์ในการชมวิวทุ่งนาที่สามารถมองเห็นได้จากมุมสูง แต่ปัญหาคือ สามารถมองได้แค่ยืนชมจากรั้วลวดหนามซึ่งมีการมากั้นไว้ป้องกันไม่ให้วัวเข้าไปทำลายนาข้าว สังเกตว่าตลอดเส้นทางที่เดินผ่านนาข้าว จะมีกระท่อมปลายนาอยู่หลายหลังเพราะพื้นที่นาของชาวบ้านจะมารวมอยู่ด้วยกันในจุดนี้โดยแบ่งสันปันส่วนกันไป ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นที่พักพิงหลังจากการทำไร่ทำนาแล้ว ยังใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีที่ดูแลพื้นที่นาของตัวเองอีกด้วย เดินชมท้องนาได้เหงื่อมานิดหน่อยก็มาถึงเวลารับประทานอาหารกลางวันยังบ้านพักโฮมสเตย์ที่พี่เชได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้ให้เรารับประทานเรียบร้อยแล้ว หากใครอยากพักค้างคืนอยู่ร่วมกับชาวบ้าน ที่นี่ก็มีทีพักอยู่ประมาณ 4 หลัง นั่งล้อมวง ปูเสื่อ รับประทานอาหารกลางวันมีกับข้าวประมาณ 3 อย่าง เป็นเมนูง่าย ๆ น้ำพริก ไข่เจียว ต้มจืดไก่กับแตงกวา รสชาติอร่อยเลยทีเดียว หลังจากทานอาหารคาวเสร็จก็ตบท้ายด้วยของว่าง เป็นอาหารเฉพาะของชนเผ่า ซึ่งมีชื่อว่า เมตอซู วิธีการทำ คือ นำข้าวเหนียวแช่น้ำไว้ 1 คืน จากนั้นใส่น้ำตาลใส่ในฝักดอกกล้วยไม้ที่หาได้ตามหมู่บ้าน จากนั้นนำไปนึ่งรสชาติก็คล้ายกับข้าวหลามแต่จะมีกลิ่นหอมของกล้วยไม้ติดมาด้วย กิจกรรมต่อไป คือ การเรียนรู้เรื่องการทอผ้า ตั้งแต่ขั้นตอนการปั่นด้าย การทอ และการปักผ้าด้วยลูกเดือย การทอผ้ายังเป็นการทอแบบโบราณใช้กี่เอว หากเรานั่งรถผ่านและมองไปตามแต่ละบ้าน เราจะเห็นว่าแทบทุกบ้านมีอุปกรณ์ทอผ้าวางอยู่ ซึ่งการทอผ้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ยาจนมาถึงลูกหลานผ้าที่ทอก็นำมาใช้ใส่กันเองในครัวเรือน เครดิต : เว็บไซต์ "ไปด้วยกัน" 07 มิถุนายน 2564 |
![]() |
สถานที่ตั้ง ตำบลวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 900-1,200 เมตร อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสนละป่าเต็งรัง
อุณหภูมิต่ำสุด 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37 องศาเซลเซียส หมู่บ้านและประชากร ประชากร ประกอบด้วย กะเหรี่ยง 5,030 คน และคนพื้นเมือง - คน รวม 5,030 คน คิดเป็น 884 ครัวเรือน ในพื้นที่ 2 ตำบล 19 หย่อมบ้าน การเดินทาง (ใส่รูปแผนที่)
จากตัวเมืองเชียงใหม่สามารถเดินทางไปยังศูนย์ฯ วัดจันทร์ ได้สองเส้นทางคือ เส้นทางเชียงใหม่ ผ่านตลาดแม่มาลัย ไปทาง อำเภอปาย แล้วเลี้ยวซ้าย สาย ปาย-วัดจันทร์ ระยะทาง 157 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง วัตถุประสงค์ 1. ส่งเสริมพัฒนาอาชีพและรายได้ให้เกษตรกร มีพอกิน ทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคเกษตร งานทดสอบและสาธิต การปลูกพืช ศูนย์ฯ วัดจันทร์ได้ทำการทดสอบสาธิตเพื่อทดสอบพืชพันธุ์ใหม่ โดยเน้นความต้านทานโรคและคุณภาพผลผลิต ต้องการทราบถึงชนิดพืชและสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และฤดูกาล เพื่อที่จะได้นำผลการทดสอบที่เหมาะสมเป็นข้อมูลนำไปถ่ายทอดและส่งเสริมให้กับเกษตรกร ต่อไป ซึ่งพืชและสายพันธุ์ที่ทดสอบ มีทั้งหมด 19 ชนิด จำนวนพื้นที่ 16 ไร่ ผลการดำเนินงาน ภาพรวมของกิจกรรมการดำเนินงานในงบประมาณปี พ.ศ. 2553 ในด้านการพัฒนาและส่งเสริมด้านภาคเกษตร พบว่ามีการพัฒนาผลผลิตและคุณภาพพืชผัก โดยเฉพาะฟักทองญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพืชหลักของศูนย์ฯ ดีขึ้น โดยดูจากรายได้ที่คืนสู่เกษตรกรเพิ่มขึ้น และมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียลดน้อยลง ในส่วนของนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะกิจกรรมด้านการบริการในเรื่องที่พักและอาหาร มีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมชมให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น สามารถบูรณาการขับเคลื่อนกิจกรรมงานส่งเสริมพัฒนาภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากทุกภาคส่วนของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน ในพื้นที่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นอย่างดี ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://royalprojectthailand.com/watchan
26 มีนาคม 2564 |
![]() | เป็นเขตอภัยทานห้ามจับปลาโดยเด็ดขาด ส่วนปลาที่อาศัยเป็นปลาพลวงหินกินพืชผักเป็นอาหาร ตั้งอยู่บ้านวัดจันทร์ หมู่ 3 ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนที่สำคัญของอำเภอกัลยาณิวัฒนาที่ต้องมาเยือน 26 มีนาคม 2564 |
![]() | ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา ตั้งอยู่วัดห้วยบง หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ (กะเหรียง) แห่งแรกในโลก ที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในที่นี่อย่างครบวงจร ผู้สนใจสามารถเข้าชมและศึกษาได้ทุกวันได้วัน โดยมีพระปลัดสุชาติ สุวฒฑโก เป็นผู้เมตตาให้วิทยาทานแก่ผู้เข้าชม 10 สิงหาคม 2562 |
![]() | ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว ที่ตั้ง บ้านวัดจันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
19 มีนาคม 2561 |
ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 / 1 (9 รายการ)